ภาวะเชื้อราในช่องคลอด ปัญหาพบบ่อยที่ผู้หญิงควรรู้
ฝ่ายการตลาด | 23 พฤศจิกายน 2563 เวลา 16:34
ภาวะเชื้อราในช่องคลอด เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยของการอักเสบในช่องคลอด โดยผู้หญิง 3 ใน 4 คนเคยติดเชื้อราในช่องคลอดอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต
ฝ่ายการตลาด | 23 พฤศจิกายน 2563 เวลา 16:34
ภาวะเชื้อราในช่องคลอด เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยของการอักเสบในช่องคลอด โดยผู้หญิง 3 ใน 4 คนเคยติดเชื้อราในช่องคลอดอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต
ภาวะเชื้อราในช่องคลอด เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยของการอักเสบในช่องคลอด โดยผู้หญิง 3 ใน 4 คนเคยติดเชื้อราในช่องคลอดอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตและหลายคนติดเชื้ออย่างน้อยสองครั้ง ภาวะเชื้อราในช่องคลอดทำให้เกิดอาการบวม
คันและระคายเคือง รวมถึงมีตกขาวออกจากช่องคลอดได้
ภาวะเชื้อราในช่องคลอดไม่ถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่การมีเพศสัมพันธ์เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อรา เชื้อราที่พบได้บ่อยที่สุดคือเชื้อ Candida Albicans รองลงมาคือเชื้อ Candida Grabata เพราะเป็นเชื้อที่สามารถยึดติดกับเซลล์บุช่องคลอดได้ดี
อาการของภาวะเชื้อราในช่องคลอด
อาการของภาวะติดเชื้อราในช่องคลอดมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง บางคนอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆถึงแม้จะติดเชื้อก็ตาม อาการที่พบได้มีดังนี้
- คันและระคายเคืองบริเวณช่องคลอดหรือภายในช่องคลอด
- มีอาการบวมบริเวณอวัยวะเพศ
- รู้สึกแสบร้อนขณะมีเพศสัมพันธ์หรือปัสสาวะ
- มีผื่นแดงบริเวณอวัยวะเพศ
- มีตกขาวเป็นสีขาวครีมข้น ไม่มีกลิ่น บางครั้งอาจมีลักษณะเป็นน้ำได้เช่นกัน
- กรณีที่มีการติดเชื้อรา 4 ครั้งหรือมากกว่าต่อปี จะจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “ภาวะติดเชื้อซ้ำซ้อน” ซึ่งมักมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กำลังตั้งครรภ์, เป็นโรคเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุม, มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำเพราะโรคบางชนิด เช่น ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี, บ่อยครั้งมักจะเป็นเชื้อราสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ Candida Albicans
- กรณีติดเชื้อราในช่องคลอด 4 ครั้งหรือมากกว่าต่อปี แพทย์อาจต้องให้ยาต้านเชื้อรานานอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค นอกจากนี้การติดเชื้อราบ่อยครั้งอาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวานหรือโรคอื่นๆ ได้
การวินิจฉัยภาวะเชื้อราในช่องคลอด
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติผู้ป่วย เช่น เคยมีประวัติเกิดการติดเชื้อราหรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่ ตรวจภายในและตรวจดูความผิดปกติของลักษณะภายนอก หลังจากนั้นแพทย์จะเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากช่องคลอดเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา
- การใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งทำลายเชื้อแบคทีเรียดีในช่องคลอด ทำให้เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายเพิ่มมากขึ้น จากการตั้งครรภ์ การรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณ ฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงหรือการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด
- โรคเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุม ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมีความเสี่ยงในการติดเชื้อราในช่องคลอดมากขึ้น
- ระบบภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้รับการบำบัดด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
- เมื่อมีอาการตกขาว,คันช่องคลอด ควรพบแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นโรคอื่นที่ร้ายแรงกว่านั้นและต้องใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างออกไป เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หรือโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนที่จะซื้อยามารักษาเอง
ป้องกันได้อย่างไร
- การปฏิบัติตัวตามหลักสุขอนามัยช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อราในช่องคลอดได้
- รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สมดุล
- รับประทานโยเกิร์ตหรืออาหารเสริมที่มีแลคโตบาซิลลัส ซึ่งช่วยรักษาสมดุลของความเป็นกรดด่างในช่องคลอด
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินินหรือผ้าไหม รวมถึงสวมกางเกงและกางเกงชั้นในที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะเป็นการนำเชื้อแบคทีเรียดีที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อออกจากร่างกาย
- ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น
- ไม่สวมใส่เสื้อผ้าเปียกชื้นเป็นเวลานาน เช่น ชุดว่ายน้ำหรือชุดออกกำลังกาย
- ไม่ใช้แผ่นอนามัยและเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างสม่ำเสมอขณะมีประจำเดือน เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้น
ด้วยความปรารถนาดี
แผนกสูตินรีเวชและมะเร็ง
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08:00-20:00 น.
โทร 074-200200 ต่อ 274
โรงพยาบาลราษฎร์ยินดี