อาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารมักจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจนออกมา ทำให้คนส่วนใหญ่ปล่อยละเลยจนอาการของโรคมีความรุนแรง ซึ่งส่งผลให้ยากต่อการรักษาในภายหลัง ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยระบบทางเดินอาหารจึงมีส่วนช่วยคัดกรองรอยโรคที่อาจแฝงตัวอยู่ในร่างกายได้ก่อนที่อาการจะลุกลาม

ประเภทของการส่องกล้องทางเดินอาหาร
• การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบน (Gastroscopy) :
เป็นการใช้กล้องตรวจหาความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น โดยสอดท่อขนาดเล็กผ่านทางปากเข้าไปยังหลอดอาหาร เพื่อดูความผิดปกติทั้งหมดตั้งแต่ช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งความผิดปกติที่เกิดในบริเวณนี้มักทำในผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบาก ปวดท้องเรื้อรัง หรือปวดท้องจุกแน่นลิ้นปี่โดยที่หาสาเหตุไม่ได้ บางรายอาจมีอาเจียนเป็นเลือด การส่องกล้องยังสามารถตรวจหาแผลในกระเพาะอาหาร ภาวะเลือดออกในช่องท้อง หรือหาเนื้องอกในระบบทางเดินอาหารได้อีกด้วย
• การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) :
เป็นการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยสอดท่อขนาดเล็กผ่านทางทวารหนักผ่านไปยังลำไส้ใหญ่ทั้งหมด อาจรวมถึงลำไส้เล็กส่วนปลายด้วย ซึ่งมักทำในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ เช่น ท้องเสียหรือท้องผูกเป็นประจำ หรือท้องเสียสลับท้องผูก ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือมีเลือดปน คลำพบก้อนในท้อง รวมถึงผู้ที่มีอาการเสี่ยงของมะเร็งหรือติ่งเนื้อในลำไส้ ซึ่งการตรวจด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ แนะนำให้ตรวจในผู้ที่อายุ 45 ปีขึ้นไป โดยควรได้รับการตรวจทางทวารหนักทุก 5-10 ปี เพื่อค้นหารอยโรคที่อาจเกิดขึ้นในลำไส้ เช่น ลำไส้อักเสบ กระเปาะลำไส้ใหญ่ ติ่งเนื้อ หรือเนื้องอกลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
การส่องกล้องทางเดินอาหารเป็นวิธีการตรวจที่ได้ผลแม่นยำ มีความละเอียดสูง สามารถตรวจพบสาเหตุได้แม้มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ยังสามารถนำชิ้นเนื้อมาตรวจเพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยที่ควรทำการตรวจคือ ผู้ป่วยที่มีอากาปวดท้องเรื้อรัง รักษาด้วยการทานยาแล้ว แต่ยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อาเจียนเรื้อรัง หรือในผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินอาหารตอนอายุมาก เนื่องจากมีความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายแรงสูงขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกในทางเดินอาหารเช่น อาเจียนเป็นเลือด หรือ ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ถ่ายเป็นเลือด ตรวจอุจจาระพบว่ามีเลือดปนเปื้อน หรือ ปวดท้องร่วมกับตรวจเจอว่าซีด และ ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียเรื้อรังหาสาเหตุไม่ได้ เป็นต้น
