โทร

074 - 200200

โทร

074 - 200200

อุบัติเหตุฉุกเฉิน

074 - 200201

การทำแมมโมแกรม ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม?

ฝ่ายการตลาด | 26 กรกฏาคม 2565 เวลา 14:27

 จากกระแสที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันในโลกออนไลน์ในขณะนี้ เกี่ยวกับการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยการทำแมมโมแกรมทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม... ไม่เป็นความจริง!!!

     การทำแมมโมแกรมไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็งเต้านม แต่ช่วยให้สามารถตรวจเจอและวินิจฉัยมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นก่อนที่จะมีอาการ โดยสามารถตรวจดูหินปูนในเต้านมได้ดี
การตรวจเจอเร็ว สามารถรักษาให้หายขาดได้ก่อนที่จะมีการลุกลามหรือแพร่กระจาย ลดอัตราการเสียชีวิตและในกรณีที่รอยโรคยังมีขนาดเล็ก สามารถผ่าตัดสงวนเต้านม คือตัดออกเฉพาะก้อน
​และเนื้อเต้านมบางส่วน ช่วยให้สามารถเก็บเต้านมไว้ได้อีกด้วย 


     สำหรับความกังวลเรื่องปริมาณรังสีที่ได้รับทำให้เป็นมะเร็งหรือไม่? การทำแมมโมแกรมมีการใช้รังสีเอกซเรย์ก็จริง แต่ปริมาณรังสีที่ได้รับเมื่อทำแมมโมแกรมในแต่ละครั้งนั้นมีปริมาณน้อยมากๆ (ปริมาณรังสีที่ได้รับในการทำแมมโมแกรมเฉลี่ยประมาณ 0.4 milliSeverts โดยถ้าเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้น ปริมาณนี้เทียบเท่ากับรังสีที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวในชีวิตประจำวันเราประมาณ 7 สัปดาห์) และในปัจจุบันเครื่องแมมโมแกรมได้มีการพัฒนาให้มีคุณภาพของภาพที่ดีขึ้นโดยปริมาณรังสีที่ใช้น้อยลงเรื่อยๆ แผนกรังสีวินิจฉัยเองก็มีการวัด ติดตาม และควบคุมปริมาณรังสีให้เป็นไปตามมาตรฐาน จึงมั่นใจได้ว่าการทำแมมโมแกรมไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านมอย่างที่หลายคนเข้าใจ และการทำแมมโมแกรมยังคงเป็นการตรวจมาตรฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย 


     การตรวจเต้านมด้วยการอัลตร้าซาวด์เป็นการตรวจที่ไม่มีรังสี มักใช้ตรวจร่วมกับการทำแมมโมแกรมเนื่องจากข้อจำกัดบางประการของแมมโมแกรมในกรณีที่เนื้อเยื่อเต้านมมีความหนาแน่นมาก โดยเนื้อเยื่อเต้านมจะแตกต่างกันตามชาติพันธุ์ กรรมพันธุ์ อายุ ในกรณีที่เนื้อเต้านมหนาแน่นมากอาจบดบังรอยโรคหรือเป็นรอยโรคปลอมได้ การทำอัลตร้าซาวด์ร่วมกับแมมโมแกรมจะช่วยให้เพิ่มความสามารถในการวินิจฉัยให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการดูลักษณะของก้อนหรือถุงน้ำ 
     การตรวจเต้านมด้วย MRI เป็นการตรวจพิเศษเฉพาะผู้ที่มีข้อบ่งชี้ในการทำ และต้องใช้ความชำนาญของรังสีแพทย์เฉพาะทางในการวินิจฉัยโรค ไม่สามารถทดแทนการตรวจด้วยแมมโมแกรมซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เป็นมาตรฐานทั่วโลกในปัจจุบันได้ 
 
• การตรวจแมมโมแกรม... เจ็บมาก? 
     ปัจจุบันการตรวจด้วยเครื่อง Digital mammogram ไม่เจ็บมากอย่างที่หลายคนจินตนาการหรืออ่านในอินเทอร์เน็ต แค่รู้สึกถึงแรงกดว่าเต้านมโดนเครื่องบีบให้แบนลง  
     ในการตรวจ นักรังสีเทคนิคที่มีความชำนาญจะทำการจัดท่ามาตรฐานสำหรับการทำแมมโมแกรม และใช้เครื่องตรวจบีบเนื้อเต้านมเข้าหากันเพื่อให้เนื้อเต้านมกระจายตัว แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์ อัลตร้าซาวด์ข้างละ 2 ภาพ รวมเป็น 4 ภาพ แต่หากมีจุดสงสัยอาจมีการถ่ายเพิ่มเติม สำหรับช่วงที่บีบเนื้อเต้านมนั้นใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที รวมเวลาตรวจตั้งแต่จัดท่าทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 5-10 นาที สำหรับบางท่านที่มีอาการเจ็บนั้นอาจเป็นเพราะว่ามาตรวจใกล้รอบเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่เต้านมคัดตึง จึงแนะนำให้ตรวจในช่วงเวลาที่เหมาะสมคือประมาณ 7-10 วันหลังประจำเดือนมาวันแรกของรอบเดือนนั้น หรืออาจรู้สึกเจ็บในบางรายมีความผิดปกติเดิมอยู่ เช่น ก้อนเนื้อเต้านม 
 
• ควรมาตรวจแมมโมแกรมเมื่อไหร่? 
ตามแนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมของประเทศไทย นอกเหนือจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้งและการตรวจคลำเต้านมโดยบุคลากรทางการแพทย์ปีละครั้งแล้ว ในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปควรมาตรวจแมมโมแกรมปีละ 1 ครั้ง ร่วมกับการทำอัลตร้าซาวด์ในกรณีที่เนื้อเต้านมมีความหนาแน่น 
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องตรวจเร็วขึ้น ในบางกรณี เช่น 
1. มีญาติสายตรง เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว เป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ คัดกรองเมื่อเอาอายุของญาติที่เป็นลบออก 10ปี 
2. ตรวจพบยีนส์ผิดปกติ BRCA1, 2 mutation ควรตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปี 
3.ได้รับการฉายแสงบริเวณหน้าอก 
4. กินฮอร์โมนทดแทนต่อเนื่องมากกว่า5 ปี 


สรุปคือ ปริมาณรังสีที่ได้รับในการตรวจแมมโมแกรมแต่ละครั้งนั้นน้อยมาก ไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็งเต้านม แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราตรวจพบมะเร็งเต้านมได้เร็วขึ้น รู้เร็ว รักษาได้ ลดการตาย แมมโมแกรมจึงยังเป็นการตรวจมาตรฐานในการคัดกรองและวินิจฉัยมะเร็งเต้านมที่ใช้กันทั่วโลก